วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สาระน่ารู้ อยุธยาศึกษา

พระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพและทรงพระแสงปืนต้น 
Image
                                                                                        ทรงประกาศอิสรภาพ และนิมนต์พระสงฆ์เป็นสักขีพยาน
         


พระเจ้าอังวะเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้เป็นพรรคพวกแล้ว ก็ตั้งแข็งเมือง ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดี กลับแต่งทูตให้ไปชวนพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ ให้แข็งเมืองด้วยกัน แต่เมืองเหล่านั้นไม่เข้ากับพระเจ้าอังวะ ต่างจับทูตส่งไปถวายหงสาวดี จึงทรงเตรียมกองทัพหลวงเสด็จไปตีเมืองอังวะ 

         ครั้งนั้นพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าลานช้าง ยกทัพไปช่วยตามรับสั่ง พระมหาธรรมราชาโปรดให้พระนเรศวรเสด็จไปถึงช้า พระเจ้าหงสาวดีระแวงว่าพระนเรศวรจะเข้ากับพระอังวะ จึงตรัสสั่งพระมหาอุปราชา ให้คุมพลรักษาเมืองอยู่หงสาวดี พอพระนเรศวรไปถึงให้ทำเป็นต้อนรับโดยดีแล้วคิดกำจัดเสีย


 เมื่อพระเจ้าหงสาวดียกทัพไปแล้ว พระมหาอุปราชจึงให้พระยามอญสองคน ชื่อพระยาเกียรติ พระยาราม เป็นข้าหลวงลงมาคอยรับพระนเรศวรที่เมืองแครง (มอญเรียกว่าเมืองเดิงกรายน์) ต่อแดนเมืองไทยสั่งมาเป็นความลับว่าให้เป็นไส้ศึก ปนไปในกองทัพพระนเรศวร เมื่อได้ทีให้กำจัดพระนเรศวร พระยาเกียรติกับพระยารามเมื่อไปถึงเมืองแครง ไปขยายความลับแก่พรรคพวกบางคน มีพระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์ เป็นต้น พวกมอญเมืองแครงพากันห้ามปรามมิให้พม่าทำร้ายพระนเรศวร 
         พระนเรศวรเสด็จไปเมืองพิษณุโลก แล้วยกกองทัพไปช้าๆ เกือบสองเดือนครึ่ง จึงไปถึงเมืองแครงที่ต่อแดนไทย เมื่อ พ.ศ. 2127 พวกเจ้าเมืองกรมการจัดที่ตั้งให้กองทัพข้างนอกเมืองและมาเฝ้าด้วยกันกับพระยาเกียรติ และพระยาราม ทูลให้ทรงทราบว่าพระเจ้าหงสาวดีรับสั่งให้มารับเสด็จพลับพลาที่ประทับของพระนเรศวรอยู่ไม่ห่างจากวัดมหาเถรคันฉ่องนัก จึงเสด็จไปเยี่ยม พระมหาเถรคันฉ่องจึงทูลพระนเรศวรให้ทรงทราบ แล้วไปว่ากล่าวพระยาเกียรติ พระยาราม ให้มาสวามิภักดิ์กราบทูลความจริงยืนยันอีกครั้งหนึ่ง 
Image
                                                                                  ประกาศอิสรภาพ ภาพสลักที่ฐานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี
        


    เมื่อพระนเรศวรทรงมั่นพระทัยว่าเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว ก็มีรับสั่งให้เรียกนายทัพ นายกอง กับพระยาเกียรติ พระยาราม และเจ้าเมืองกรมการมาประชุมพร้อมกันที่พลับพลา และนิมนต์พระสงฆ์มานั่งเป็นสักขีพยาน ทรงเล่าเรื่องที่พระเจ้าหงสาวดีจะให้ล่อลวงไปทำร้ายให้ทุกคนทราบ จากนั้นก็ทรงหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร ประกาศต่อที่ประชุมว่ากรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับหงสาวดีมิได้เป็นมิตรกันสืบไป
    ขณะนั้นพระนเรศวรมีพระชันษา 29 ปี มีรับสั่งถามพวกมอญชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างไหน พวกมอญโดยมากยอมเข้ากับไทย พระนเรศวรจึงตรัสสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม จัดพรรคพวกนำข้าหลวงแยกย้ายกันไปตามตำบลที่พวกไทยอยู่ข้างนอกเมืองหงสาวดี บอกให้รู้ว่าจะทรงพากลับไปบ้านเมือง แล้วเสด็จยกทัพออกจากเมืองแครง ข้ามแม่น้ำสะโตงไปยังเมืองหงสาวดี  




 พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบว่าพระนเรศวรโปรดให้เที่ยวกวาดครัวเรือนแล้วถอยทัพกลับไป ก็จัดทัพให้สุรกรรมาเป็น
กองหน้า พระมหาอุปราชเป็นกองหลวงยกติดตามกองหน้ามาทันที่แม่น้ำสะโตง พระนเรศวรพาครัวไทยข้ามฝากมาแล้วจึงตรัสสั่งให้พวกครัวเรือนล่วงหน้ามาก่อน ส่วนกองหลวงตั้งรอต่อสู้ข้าศึกอยู่ที่ริมแม่น้ำสะโตง สุรกรรมากองหน้ามาถึงท่าข้ามฝั่ง กองทัพไทยเอาปืนยิงก็ยับยั้งยิงต่อสู้กันอยู่ที่ริมแม่น้ำสะโตง แรงปืนที่พลทหารยิงไม่ถึงฝั่งด้วยกันทั้งสองฝ่าย 
Image
                                                                ทรงพระแสงปืนต้น ยิงข้ามแม่น้ำสะโตง
         

 พระนเรศวรทรงยิงปืนยาวนกสับถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตายอยู่กับคอช้าง พวกรี้พลเห็นนายทัพตายก็พากันครั่นคร้ามเลิกทัพกลับไปทูลความแก่พระมหาอุปราชซึ่งเสด็จตามมา ทรงเห็นว่าจะติดตามพระนเรศวรต่อไปไม่สำเร็จ ก็เลิกทัพกลับไปหงสาวดี และพระแสงปืนซึ่งทรงยิงถูกสุรกรรมาตายครั้งนั้นได้นามปรากฏต่อมาว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับแผ่นดินจนตราบเท่าทุกวันนี้  


ศึกษาเพิ่มเติม : http://www.ayutthayastudies.aru.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม