ครู ศิษย์ ถ่ายทอด แบ่งปัน ผูกพัน พอเพียง
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่าครูมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาบุคลากรให้กับประเทศชาติ ซึ่งบุคลากรเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติเกิดความเจริญก้าวหน้า แต่ก็ยังมีบุคลากรอีกมากเช่นกันที่ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ อาจจะเป็นเหตุผลอันเนื่องมาจากความด้อยโอกาสทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบ และบุคลากรของประเทศชาติที่ยังไม่ได้รับการศึกษาจึงน่าจะมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันด้วยเพื่อที่จะได้เป็นกำลังเสริมในการที่จะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศโดยอาจจะเป็นการพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อม และอีกอย่างที่ไม่ควรลืมก็คือวัฒนธรรมไทยที่ให้ความเคารพนับถือผู้ที่อาวุโสกว่า ให้ความเกรงใจ ให้เกียรติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น น้องให้ความเคารพพี่ ลูกให้ความเคารพพ่อแม่ หลานให้ความเคารพญาติผู้ใหญ่ และศิษย์ให้ความเคารพครู ซึ่งโดยภาพรวมก็คือผู้น้อยจะต้องเคารพผู้ใหญ่ แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทยว่ามีความประนีประนอมสูง มีความยืดหยุ่นสูง มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ โดยเฉพาะการยกมือไหว้อันเป็นเอกลักษณ์ที่ดีและน่าชื่นชมของคนไทยซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ ก็ได้ชื่นชมประเทศไทยตรงจุดนี้
สำหรับครูผู้ซึ่งเป็นผู้ที่คอยอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดี คนเก่ง ของสังคมและประเทศชาติ ก็ควรที่จะได้รับการยกย่องชมเชยเป็นที่สุด ครูเปรียบเสมือนผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทุก ๆ อาชีพ เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือแม่พิมพ์ของชาติซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ผู้น้อยจะต้องให้ความเคารพโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิษย์ของครู เพราะศิษย์เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดครู รับเอาความรู้ที่ครูถ่ายทอดออกมา ซึ่งความรู้ที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้นอาจจะเป็นความรู้ที่ถูกถ่ายทอดออกจากประสบการณ์ของครู หรืออาจจะเป็นความรู้ที่ออกมาจากตำราที่ครูได้เรียบเรียงและถ่ายทอดออกมาให้ศิษย์ โดยคำว่าครูในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นครูที่สอนศิษย์แต่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายความถึงครูทุกคนที่คอยให้ความรู้และประสบการณ์ในแต่ละด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ พ่อแม่ ที่ให้การอบรม สั่งสอน เลี้ยงดู ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา แก่ลูกในทุก ๆ เรื่อง ฯลฯ ส่วนตัวของศิษย์ก็จะต้องเชื่อฟังครู ทำตัวให้เป็นที่รักของครู เมื่อครูบอกกล่าว ตักเตือน หรือชี้แนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ก็ควรที่จะเปิดใจรับฟังอย่างจริงใจ ไม่เสแสร้ง เพราะว่าสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากตัวครูจะไปสู่ศิษย์ในลักษณะของความจริงใจและเป็นการแบ่งปันโดยไม่มีการหวงความรู้แต่อย่างใด
ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงคำว่าการแบ่งปัน ก็คือการให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ การให้เพราะความอยากที่จะให้ ให้แล้วมีความสุขใจ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน และอาจจะเป็นความคิดที่ว่าสิ่งที่ให้นั้นจะเกิดประโยชน์กับตัวผู้รับมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเมื่อศิษย์รับเอาความรู้ ประสบการณ์ คำแนะนำที่ดีจากครู ศิษย์ก็ควรนำสิ่งเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้และถ่ายทอดให้กับผู้อื่นที่ยังไม่เข้าใจได้รับรู้และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นทั้งครูและศิษย์คือบุคคลที่ร่วมกันถ่ายทอด แบ่งปัน สร้างสรรค์ จึงทำให้เกิดเป็นเครือข่ายทางสังคม มีความกลมเกลียว ผูกพัน ระหว่างครูกับศิษย์ที่ช่วยทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนา ทำให้บุคคลได้รับการขัดเกลาทางสังคม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีเหตุมีผล เป็นคนดี คนเก่งของสังคม ซึ่งจะโยงไปถึงเรื่องของความพอเพียงในสังคมไทย
ความพอเพียงเป็นสิ่งที่คนในสังคมไทยปัจจุบันจะต้องให้ความสำคัญ เพราะสังคมที่มีแต่การแก่งแย่งชิงดี เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันก็จะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง เกิดการทุจริตคอรัปชั่น ไม่มีความสงบเรียบร้อย ประชาชนไม่มีความสุข จึงได้มีกระแสเรื่องความพอเพียงเข้ามาในสังคมไทยอันเป็นแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ต้องการจะให้คนไทยรู้จักพึ่งพาตนเอง รู้จักพัฒนาตนเองให้อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง ซึ่งองค์กรหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มนำเอาแนวคิดความพอเพียงมาปรับใช้ในองค์กรของตนเองแล้ว เนื่องจากว่าที่ผ่านมาองค์กรมุ่งเน้นแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงประชาชนผู้บริโภค ทำให้องค์กรไม่มีการเจริญเติบโตเท่าที่ควรและไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้นองค์กรจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของสังคมโดยรวม จึงให้การแบ่งปันผลประโยชน์กับประชาชนในสังคม เพื่อที่จะทำให้เกิดความผูกพันระหว่างองค์กรกับประชาชนในลักษณะที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยใช้แนวคิดความพอเพียงที่จะทำให้บุคคล องค์กร สังคม และประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งการที่บุคคลจะมีความรู้และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ในการทำงานหรือการใช้ชีวิตนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ที่อบรมสั่งสอนและสร้างให้บุคคลประสบความสำเร็จนั่นก็คือครู
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น